ชีพจรกับการออกกำลังกาย

ชีพจรเป็นคลื่นที่เกิดจากการหด และขยายตัวของหลอดเลือดแดงเนื่องจากการไหลผ่านของเลือด เมื่อหัวใจบีบตัวหนึ่งครั้ง เลือดจำนวนหนึ่งจะถูกสูบฉีดเข้าไปในหลอดเลือดแดง แรงดันของเลือด จะทำให้หลอดเลือดแดงขยายตัวออก เมื่อแรงดันในหลอดเลือดลดลง หลอดเลือดจะหยุ่นตัวกลับซึ่งในการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต หัวใจจะบีบ และคลายตัวสลับกันเป็นจังหวะหลอดเลือดจึงยืด และหยุ่นตัวเป็นจังหวะตามไปด้วย ทำให้เกิดคลื่นที่สามารถเห็นหรือสัมผัสได้

                  ตำแหน่งของชีพจรสามารถตรวจสอบพบได้หลายแห่งในร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนที่หลอดเลือดแดงอยู่ตื้นหรือใกล้ผิวหนัง ได้แก่ บริเวณขมับ ด้านข้างลำคอ ข้อมือ ข้อพับของข้อศอก         ขาหนีบ    ข้อพับของเข่า ข้อเท้า และหลังเท้า เป็นต้น บริเวณที่สามารถตรวจพบง่ายและสะดวกที่สุด คือ บริเวณด้านข้างของลำคอ และข้อมือ

                  การรู้จักตรวจสอบชีพจรด้วยตนเอง จะให้ได้รับรู้เกี่ยวกับสภาพร่างกายของตนเองหลายอย่าง เช่น อัตราชีพจรเร็วหรือช้ากว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมีความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตก็ได้ เมื่อทราบแล้วจะได้รีบไปตรวจรักษาจากแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย และจัดปริมาณการ       ฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาได้อีกด้วย

                  ชีพจรปกติจะแตกต่างกันไปตาม อายุ เพศ เวลา กิจกรรมทางกายที่ปฏิบัติ และสภาวะจิตใจอัตราชีพจรของเด็กจะมากกว่าผู้ใหญ่ หญิงจะมากกว่าชาย เวลาบ่ายจะมากกว่าเวลาเช้า ขณะออกกำลังกายจะมากกว่าขณะพัก ขณะตื่นเต้นมากกว่าขณะสงบ โดยปกติอัตราชีพจรผู้ใหญ่ชายจะประมาณ 60 – 80 ครั้งต่อนาที และหญิงจะประมาณ   70 – 90 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าอัตราชีพจรปกติน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที เรียกว่า Bradycardia และชีพจรปกติที่มากกว่า 100 ครั้ง/นาที เรียกว่า Tachycardia   ทั้งสองลักษณะนี้จะถือว่า บุคคลนั้นมีชีพจรที่ผิดปกติจะต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที

การประเมินความสมบูรณ์ของร่างกาย โดยใช้ชีพจรเป็นตัวกำหนดนั้น สามารถประเมินได้หลายวิธี ดังนี้คือ วิธีแรก เป็นการประเมินจากการจับชีพจรขณะพัก โดยใช้จับชีพจรภายหลังจากการตื่นนอนเช้า ก่อนที่จะลุกขึ้นไปทำกิจวัตรประจำวัน โดยสังเกตดูว่าถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์อัตราชีพจรนี้จะลดลง  และจะลดลงถึงจุด ๆ หนึ่ง  แล้วหากจะเพิ่มความสมบูรณ์ขึ้นไปอีก จะต้องเปลี่ยนแปลงการฝึกกิจกรรมหรือความหนักของงานสำหรับการออกกำลังกายนั้น ๆ เพิ่มขึ้นอีก แต่ถ้าอัตราชีพจรขณะพักนี้มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอาจเกิดอาการผิดปกติได้ เช่น เกิดเจ็บป่วย พักผ่อนไม่เพียงพอหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องค้นหาสาเหตุต่อไป อีกวิธีหนึ่งคือ การประเมินจากการจับชีพจรหลังการออกกำลังกาย โดยการสังเกตดูว่า ถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์ระยะเวลาการฟื้นตัว (Recovery) ภายหลังการออกกำลังกายสู่ภาวะปกติเร็วกว่าบุคคลที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน แสดงให้เห็นว่าสภาพร่างกายที่สมบูรณ์กว่า หรือถ้าต้องการเปรียบเทียบความสมบูรณ์ของตนเอง แล้วก็จะสังเกตจากระยะเวลาของการฟื้นตัวสู่สภาวะปกติของตนเองในแต่ละวันภายหลังการออกกำลังกายได้ อย่างไรก็ตามความสมบูรณ์ของร่างกายสามารถเปรียบทียบได้จากอัตราชีพจร ดังตาราง

Shares: