ความสำคัญของการออกกำลังกาย

                  ในปัจจุบันนี้วิทยาการใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้นำความเจริญมาสู่มนุษย์ในยุคนี้เป็นอย่างมาก และทำให้มนุษย์มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เมื่อการดำเนินชีวิตอยู่ในลักษณะที่สะดวกสบายมากขึ้นการใช้แรงกายในชีวิตประจำวันของมนุษย์น้อยลง จึงทำให้มนุษย์ในปัจจุบันนี้มักจะมีสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงเท่าที่ควร ร่างกายจึงมีสภาพอ่อนแอลงหรือเกิดสภาพผิดปกติขึ้นได้ เช่น  การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ไม่ได้ ปริมาณไขมันของร่างกายมากกว่าปกติ ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ โรคของข้อต่อและกระดูก และทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นไปด้วยความเชื่องช้าไม่คล่องแคล่วว่องไว  เป็นต้น

                  เป็นที่ทราบ และยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า การที่มนุษย์จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งทางกาย  และจิตใจ  เชื่อกันว่า การออกกำลังกายที่ดีถูกต้อง และเหมาะสมตามเพศ วัย สภาพของร่างกายแต่ละบุคคลตามความต้องการ  ความสนใจแล้วนับว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่จะสามารถทำให้ชีวิตมนุษย์มีสุขภาพดีขึ้น

ความหมายของการออกกำลังกาย

                  การออกกำลังกาย (Exercise) เป็นศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับกิจกรรมทางกายเป็นการศึกษา เกี่ยวกับการออกกำลังกายที่จะต้องรู้จักการตอบสนองต่อร่างกายของมนุษย์  ในรูปแบบของการออกกำลังกายเฉพาะอย่าง   ซึ่งสามารถดัดแปลงร่างกายให้กระทำจนเกิดผลการฝึกเฉพาะอย่างนั้น ๆ

                  การออกกำลังกายเป็นการทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ทั้งระบบโครงสร้างและหน้าที่ หากขาดการออกกำลังกาย ร่างกายจะลดศักยภาพในการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อสามารถออกแรงต่อต้าน และเอาชนะแรงบังคับได้ นอกจากนี้    ยังทำให้เกิดการพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์   และความรู้สึกดีขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น  พอจะสรุปได้ว่า  การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมทางกาย  และทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทั้งในแง่ของ   โครงสร้างและหน้าที่ ทำงานสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทำให้สติปัญญา อารมณ์ และความรู้สึก  ดีขึ้นอีกด้วย

เอกสารและแหล่งอ้างอิง

  • ชูศักดิ์  เวชแพศย์ และกันยา  ปาละวิวัชน์. สรีรวิทยาของการออกกำลังกาย.  พิมพ์ครั้งที่  4. กรุงเทพมหานคร : ธรรกมลการพิมพ์, 2536.
  • ประทุม  ม่วงมี. รากฐานทางสรีรวิทยาของการออกกำลังกายและพลศึกษา. กรุงเทพมหานคร : บูรพาสาส์น, 2527.
  • พิชิต  ภูมิจันทร์ และคณะ. วิทยาศาสตร์การกีฬา. กรุงเทพมหานคร : แสงศิลป์การพิมพ์, 2533.
  • ฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬา, การกีฬาแห่งประเทศไทย. วิทยาศาสตร์การกีฬาสำหรับผู้ฝึกสอนกีฬาและนักกีฬา.  กรุงเทพมหานคร : ไทยมิตรการพิมพ์, 2535.
  • รีดเดอรส์   ไดเจสท์.   ไขปัญหารักษาสุขภาพ.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : รีดเดอรส์ ไดเจสท์ (ประเทศไทย) จำกัด, 2542.
  • อนันต์  อัตชู. สรีรวิทยาการออกกำลังกาย. พิมพ์ครั้งที่  2. กรุงเทพมหานคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2527.
  • American College of Sports Medicine. Guidilines for exercise testing and Prescription 4 th ed. Philadelphia: Lea & Febiger, 1991.
Shares: