ความหมายของการส่งเสริมสุขภาพ

การส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) ตามนิยามคำจำกัดความที่ได้จากการประชุมระหว่างประเทศ เรื่องการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจัดโดยองค์การอนามัยโลก ณ     กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2529 (ค.ศ. 1986) ได้เกิดข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพที่เรียกว่า Ottawa Charter ได้สรุปว่า การส่งเสริมสุขภาพเป็นกระบวนการของการทำให้ประชาชนสามารถเพิ่มพลังอำนาจในการควบคุมและปรับปรุงภาวะสุขภาพของตนเองได้อย่างแท้จริง

                  ตามแนวคิดของ กรีน และ ครูเตอร์ (Green and Kreuter 1991:4 อ้างถึงใน วสันต์  ศิลปะสุวรรณ และ พิมพ์พรรณ  ศิลปะสุวรรณ 2541 : 2) ได้ระบุว่าการส่งเสริมสุขภาพหมายถึง ผลรวมของการสนับสนุนทางด้านการศึกษาร่วมกับการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติในสภาวการณ์การดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะสุขภาพที่สมบูรณ์ การกระทำหรือการปฏิบัติเหล่านั้นอาจเป็นในระดับบุคคล ชุมชน หรือกลุ่มบุคคลก็ตาม การปฏิบัติหรือการกระทำเหล่านั้นย่อมส่งผลต่อภาวะสุขภาพของบุคคลและชุมชนโดยรวม

                  และแคปแลน, แซลลิส และ แพทเทอร์สัน (Kaplan; Sallis and Patterson, 1993 : 81 อ้างถึงใน วสันต์  ศิลปะสุวรรณ และ พิมพ์พรรณ  ศิลปะสุวรรณ 2541 : 3) ได้ให้ความหมายของการส่งเสริมสุขภาพ คือ “ความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าประชากรที่มีสุขภาพดีต้องมีการป้องกันโรคและได้รับการส่งเสริมการมีสุขภาพดีในแบบแผนของการดำเนินชีวิต” สำหรับ เมอร์เรย์ และ เซนเนอร์ (Murray and Zentner, 1992 : 659 อ้างถึงใน วสันต์  ศิลปะสุวรรณ และ พิมพ์พรรณ  ศิลปะสุวรรณ 2541 : 3) ให้ความหมายของการส่งเสริมสุขภาพว่าเป็น “กลุ่มกิจกรรมซึ่งช่วยยกระดับของสุขภาพและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นรวมถึงการที่แต่ละบุคคล ครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคม ได้ประจักษ์ในศักยภาพสูงสุดด้านสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพมีลักษณะธรรมชาติเป็นแบบพหุมิติ บุคคลต่าง ๆ ครอบครัว หรือชุมชน จะพาตนเองไปสู่ภาวะการมีค่านิยมในทางบวกกับการมีภาวะสุขภาพที่ดี

                  จะเห็นได้ว่าแนวคิดด้านการส่งเสริมสุขภาพในเชิงระบบนี้เชื่อว่า ลักษณะโครงสร้างทางสังคม สภาพการดำเนินชีวิต หรือวิถีชีวิต ภาวะเศรษฐกิจ สถาบัน และบรรยากาศทางการเมือง กฎหมาย วัฒนธรรม รวมถึงสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพของชุมชน เป็นระบบที่สนับสนุนและยับยั้ง หรือกำหนดพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละบุคคล ครอบครัว และกลุ่มบุคคล จากการให้คำจำกัดความของการส่งเสริมสุขภาพได้รวมถึงองค์ประกอบ และโครงสร้างของการส่งเสริมสุขภาพในเชิงระบบ เป็นการผสมผสานศาสตร์ต่าง ๆ ได้แก่ วิทยาการทางด้านชีวการแพทย์ (Biomedical Sciences) วิทยาการจัดการ (Management Sciences) พฤติกรรมศาสตร์ (Behavioral Sciences) และการศึกษา (Education) ตลอดจนวิทยาการจิตวิทยาสังคม (Psycho-social sciences) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อประยุกต์ใช้ในการดูแลและคงไว้ซึ่งการมีสุขภาพดีของบุคคล ครอบครัว กลุ่มบุคคล และชุมชน อันเป็นจุดหมายของการส่งเสริมสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้นการส่งเสริมสุขภาพจะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ภายใต้สังคมที่มีความสงบและผาสุก ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยครบถ้วนถูกสุขลักษณะ มีอาหารสะอาดถูกหลักอนามัยบริโภค มีงานทำเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษภัยต่อกาย จิต และสังคม ได้รับการยอมรับนับถือ รับความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันในโอกาสต่าง ๆ เป็นต้น

Shares: