คนทั่วไปปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือด 70-110 มก./ดล.  และหลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ช.ม. ระดับน้ำตาลจะไม่เกิน 140  มก./ดล. ผู้ป่วยที่ระดับน้ำตาลไม่สูงมาก  อาจไม่มีอาการอะไร  การวินิจฉัยโรคเบาหวานจะทำได้จากการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด  อย่างไรก็ตามระดับน้ำตาลที่สูงกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน  ๆ สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังได้

อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานมีทั้งส่วนที่เป็นผลจากภาวะน้ำตาลสูงโดยตรง  และส่วนที่เป็นอาการเนื่องมาจากโรคแทรกซ้อน ได้แก่

1. ปัสสาวะบ่อยและมาก  ปัสสาวะกลางคืน  คนปกติถ้าไม่ดื่มน้ำมาก่อนนอน มักจะไม่ต้องลุกมาปัสสาวะกลางดึกหรือปัสสาวะอย่างมาก  1 ครั้ง ในผู้ป่วยเบาหวานเมื่อระดับน้ำตาลสูงมากเกินความสามารถของไตในการกั้นมิให้น้ำตาลออกมาในปัสสาวะ (พลาสมากลูโคสในเลือดสูงมากกว่า  180 มก./ดล.)  จะมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะซึ่งจะดึงน้ำตาลมา  ทำให้สูญเสียน้ำไปด้วย  จึงมีปัสสาวะมากกว่าคนปกติ  ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกหลายครั้ง  และอาจพบว่าปัสสาวะมีมดตอม

2. คอแห้ง กระหายน้ำ  ดื่มน้ำมาก  ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายสูญเสียน้ำมากทางปัสสาวะหิวบ่อย  รับประทานจุ  แต่น้ำหนักลด  อ่อนเพลีย  เนื่องจากร่างกายนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้เพราะอินซูลินไม่เพียงพอ จึงมีการสลายพลังงานออกมาจากไขมันและกล้ามเนื้อถ้าเป็นแผลจะหายยาก 

3. มีการติดเชื้อตามผิวหนัง เกิดฝีบ่อย เนื่องจากน้ำตาลสูงทำให้ความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรคลดลง มีคันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณช่องคลอดของผู้ป่วยเพศหญิงสาเหตุของอาคารคันเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น  ผิวหนังแห้งเกินไป  หรือการอักเสบของผิวหนัง  ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน

4. ตาพร่ามัว การที่ตาพร่ามัวในผู้ป่วยเบาหวาน  มีสาเหตุหลายประการ เช่น อาจเป็นเพราะสายตาเปลี่ยน  (สายตาสั้นลง)  มีน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลไปคั่งอยู่ในตาอาจเกิดจากต้อกระจก หรือจอตาผิดปกติจากโรคเบาหวาน ชาปลายมือปลายเท้า หย่อนสมรรถภาพทางเพศเนื่องจากน้ำตาลที่สูงมากๆทำให้เส้นประสาทเสื่อม  เกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เพราะไม่รู้สึกกว่าจะทราบแผลก็ลุกลามมาก  ติดเชื้อได้ง่าย  รวมทั้งสมรรถภาพลดลง

Shares: