โรคไข้หวัด และโรคไข้หวัดใหญ่

                  สาเหตุและอาการ

            โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อกันได้ง่ายเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางจมูก ปาก และตา เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วยที่ไอ จามออกมา นอกจากนี้เชื้อยังอาจติดอยู่กับภาชนะของใช้หรือพื้นผิวที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย โรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างกว้างขวางได้ในที่มีคนอยู่รวมกันมากๆและอากาศไม่ถ่ายเท

Flower photo created by katemangostar – www.freepik.com

            อาการของไข้หวัดจะเริ่มด้วยการมีไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บหรือแสบคอ อาจมีอาการหนาวสั่นด้วย สำหรับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่นั้น จะมีอาการรุนแรงกว่าคือ ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ปวดศีรษะและเวียนศีรษะมาก ปวดตามกระดูก กล้ามเนื้อ และมักมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย ถ้าพักผ่อนอย่างเพียงพอ และได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยจะหายจากโรคนี้ได้ภายใน 5-7 วันบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม หลอดลมอักเสบ คออักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายมากโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน โรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด ปอดเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคไต เบาหวาน โรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ธาลัสซีเมีย โรคลมชัก ความผิดปกติทางระบบประสาทผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่กำลังกินยาแอสไพริน รวมทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุ

            การป้องกัน และรักษา

            1.หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้ป่วย เช่น จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรแนะนำให้ปิดปากด้วยผ้า หรือกระดาษเช็ดหน้า เวลาไอหรือจาม

            2.ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ

            3.ในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน

            4.หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นและไม่ใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้น

            5.เมื่อเริ่มมีอาการไข้หวัดใหญ่ ควรนอนพักผ่อนมากๆ และดื่มน้ำบ่อยๆ ถ้าตัวร้อนมาก กินยาลดไข้และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือถ้าไม้อาการไม่ดีขึ้น คือมีอาการไอมากขึ้นแน่นหน้าอก นานเกิน 2 วัน ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคปอด หอบหืด  โรคหัวใจ ไต หญิงตั้งครรภ์ โรคอ้วน ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็กที่หายใจเร็ว หอบ หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม หรือหายใจมีเสียงดัง อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อเริ่มมีอาการคล้ายหวัดให้รีบไปพบแพทย์ทันที

Shares: