โรคกระดูกพรุนในระยะแรกจะไม่ปรากฏอาการให้เห็นชัดเจน  อาการจะเริ่มเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อโรคได้ดำเนินไปมากแล้ว  และอาการสำคัญที่สุดที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ กระดูกหัก  ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวหรือหลังจากการกระแทกเพียงเล็กน้อยหรือเกิดซ้ำหลายครั้ง   ตำแหน่งที่เกิดกระดูกหักจะพบได้ทุกที่ในร่างกายและจะแตกต่างกันไปตามอายุ แต่จุดที่พบได้บ่อยคือ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพกและกระดูกข้อมือ   เนื่องจากเป็นบริเวณที่มักจะมีกระดูกบางมากที่สุด

            สำหรับอาการทั่วไปที่มักพบคือ  ปวดกระดูกโดยเฉพาะกระดูกสันหลังอาการปวดจะเป็นๆหายๆไม่มีตำแหน่งชัดเจนและไม่มีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงบางครั้งอาจจะปวดอย่างรุนแรง ต่อมาเมื่อกระดูกสันหลังเริ่มทรุดจะพบความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้น เช่น  กระดูกสันหลังคดโค้งงอมากขึ้นเรื่อยๆพร้อมกับตัวเตี้ยลงทุก ๆ ปี

การป้องกันและรักษา

                       การป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกพรุนเป็นวิธีที่ดีที่สุด ซึ่งทำได้โดยการสะสมเนื้อกระดูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยก่อนอายุ 30  ปี  ซึ่งหากพ้นวัยนี้ไปแล้วร่างกายจะไม่สามารถสะสมเนื้อกระดูกให้เพิ่มได้อีก เนื่องจากกระบวนการสลายมีมากกว่าการสร้างจึงทำได้แต่เพียงการรักษาเนื้อกระดูกที่มีอยู่ไม่ให้ลดไปจากเดิม   โดยมีหลักในการป้องกันและรักษาอย่างเดียวกันคือ

               1.   รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่   และมีปริมาณแคลเซียมที่มากเพียงพอ   อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม  ได้แก่  นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม  ปลาเล็กปลาน้อย  กุ้งฝอย  ผักใบเขียว   เป็นต้น

              2.   ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ  3  ครั้ง  ครั้งละ 30  นาที เช่น   เดินเร็ว  วิ่งเหยาะ   ขี่จักรยาน  เป็นต้น  ซึ่งจะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นรวมทั้งช่วยพยุงความหนาแน่นของเนื้อกระดูกเอาไว้

              3. หลีกเลี่ยงการบริโภคสิ่งที่ชักนำให้เกิดโรคกระดูกพรุน เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์   น้ำอัดลม  อาหารเค็มจัด  สูบบุหรี่  เป็นต้น ป้องกันการหกล้ม โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพราะความสามารถในการทรงตัวลดลง จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านไม่ให้เสี่ยงต่อการล้ม เช่น พื้นที่ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งของวางเกะกะ

              4.   การใช้ยาป้องกันและรักษา  ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาใช้ยาตามความเหมาะสม

การรักษาโรคกระดูกพรุนไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดอัตราทุพพลภาพที่เกิดจากภาวะกระดูกหัก แต่ไม่สามารถป้องกันได้โดยเด็ดขาด  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ  การป้องกันการหกล้ม

Shares: