7 วิธีป้องกันโรคหัวใจ (heart disease) ทำตามได้ง่ายๆ เพื่อสุขภาพที่ดีตลอดไป

1. เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ปลาและธัญพืชให้มากขึ้นในแต่ละมื้ออาหาร ลดอาหาร ที่มีไขมันคลอเลสเตอรอล และพลังงาน (แคลอรี) สูง หากคลอเลสเตอรอลสูงเกินระดับปกติร้อยละ 10 โอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 กินอาหารเค็มและหวานให้น้อยละ ลดการกินเกลือ (ไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน) ลดการกินน้ำตาล (ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน) การบริโภคของเค็มมากเกินไปทำให้มีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงปกติมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

2. เลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 20 ของผู้เสียชีวิต เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นประจำ ถ้าหยุดสูบความเสี่ยงจะลดลงครึ่งหนึ่ง ภายใน 12 เดือน และภายใน 15 ปี โอกาสเสียชีวิตเท่ากับคนไม่สูบบุหรี่ นอกจากนั้นจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งปอดและเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้อื่น

3. ลด เลิก เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผู้ชาย ควรลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลงไม่เกิน 30 ซีซีต่อวัน ผู้หญิง ควรลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลงไม่เกิน 20 ซีซีต่อวัน

4. หมั่นออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงทุกวัน เช่น การเดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิค อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที จะช่วยลดการเป็นโรคหัวใจได้ร้อยละ 10

5. คลายเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใสเป็นสุขอยู่เสมอ มองโลกในแง่ดี เพื่อป้องกันและต่อสู้กับปัญหาหรืออุปสรรคที่เข้ามาในชีวิตให้ผ่านไปด้วยดี เพราะผู้ที่มีความเครียดสูงมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

6. อย่าละเลยสุขภาพเด็ก พ่อแม่ควรดูแลอาหารของลูกให้ถูกสุขลักษณะ จำกัดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ชักชวนเด็กออกกำลังกาย ควบคุมการดูโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และการเล่นคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมน้ำหนักและปลูกฝังสุขนิสัยที่ถูกต้องตั้งแต่เยาว์วัย

7. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี มีประโยชน์ต่อทุกคน โดยเฉพาะคนที่ญาติสนิทเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในสมองแตกก่อนอายุ 60 ปี เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ควรวัดความดันโลหิตและระดับภาวะน้ำตาลในเลือดเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป หากพบว่าตัวเองมีความดันโลหิตสูงและระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าบุคคลทั่วไป ควรควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับไม่เกิน 140/90 มม.ปรอท พร้อมทั้งดูแลสุขภาพ ติดตามการรักษาและเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนอย่างสม่ำเสมอ

Shares: