Image by Taylor Harding from Pixabay

ความหมายและความสำคัญของการมีสุขภาพดี

        คำว่าสุขภาพตามธรรมนูญแห่งองค์การอนามัยโลก ได้บัญญัติคำจำกัดความของคำว่าสุขภาพไว้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920) ดังนี้

      สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมประกอบกัน ไม่ใช่แต่เพียงการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือ ความพิการเท่านั้น ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษที่ว่า

      Health is a state of complete physical, mental and social well-being and not merely the absence of disease or infirmity

      และในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  ได้ให้ความหมายของ   คำว่าสุขภาพ หมายถึง ความปราศจากโรค ความสบาย ความสำราญ  จะเห็นได้ว่าในอดีตที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมเท่านั้น ต่อมา ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2541 (ค.ศ.1998) ได้มีการเอาคำว่าจิตวิญญาณ (Spiritual) เข้าไปรวมในความหมายของคำว่าสุขภาพอีกด้วย และในต่อมาในทัศนะของศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ   วะสี เห็นว่าน่าจะเพิ่มเติม สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual well-being) จึงจะทำให้ความหมายของคำว่าสุขภาพ    มีความหมายที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

      สุขภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการดำรงชีวิต ทุกคนจะต้องดูแลสุขภาพของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อให้ตนเองเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีในทุก ๆ ด้าน จะทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขตามศักยภาพที่ตนมีอยู่ สุขภาพเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวบุคคล สังคม และสิ่งแวดล้อม หากปัจจัยดังกล่าวขาดความสมดุลก็จะก่อให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพได้

      การจะมีภาวะสุขภาพที่พึงปรารถนานั้น บุคคลจะต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ   ที่ถูกต้อง และเป็นระบบ การที่จะมีสุขภาพที่ดีได้นั้น จะต้องมีสุขภาวะทางร่างกาย (Physical health) สุขภาวะทางสังคม (Social health) สุขภาวะทางจิตใจ (Mental health) สุขภาวะทางอารมณ์ (Emotional health) สุขภาวะทางสิ่งแวดล้อม (Environmental health) และสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual health) ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน โดยที่บุคคลที่จะมีสุขภาพดีได้นั้น จะต้องมีปัจจัยทางสุขภาวะเหล่านี้ดี ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ร่วมกันกำหนดสภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคลและ       มีอิทธิพลสำคัญคือ พฤติกรรมสุขภาพ (Health behavior) สภาพแวดล้อมทางกายภาพ (Physical environment) พันธุกรรม (Heredity) และการบริการสุขภาพ (Health care service) การที่บุคคลจะมีสุขภาพดีได้นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบใด หรือปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลรวมจากปัจจัยหลาย ๆ ด้านเหล่านี้ร่วมกัน

      สุขภาวะทางร่างกาย หมายถึง คุณลักษณะของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับขนาด รูปร่าง ของร่างกาย หน้าที่ในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายที่ทำงานสัมพันธ์กัน การที่บุคคลมีสุขภาวะทางร่างกายดี คือ การที่ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายสามารถทำงานสัมพันธ์กันได้เป็นอย่างดี มีพัฒนาการที่เหมาะสม ตามเพศ วัย       มีสมรรถภาพทางกายที่ดี สามารถประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ

      สุขภาวะทางจิตใจ หมายถึง ความสามารถในการเรียนรู้ และพัฒนาการจากประสบการณ์และความสามารถทางปัญญาที่มีอยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคล ซึ่งมีผลต่อการตอบสนองทางความคิดของบุคคลนั้น การตอบสนองทางความคิด ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อ (Beliefs) ทัศนคติ (Attitudes) และค่านิยม (Values) ต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น วิถีการดำเนินชีวิต ครอบครัว ความสัมพันธ์ของสังคม เป็นต้น บุคคลใด   ที่มีสุขภาพทางจิตใจที่ดีจะเป็นผู้ที่มักจะคิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในทางที่ดีหรือในทางบวกกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองเสมอ ซึ่ง ภาษาอังกฤษตรงกับคำว่า Positive thinking หมายถึง การคิดทางบวก หรือการคิดในทางที่ดี

      สุขภาวะทางอารมณ์ จะมุ่งเน้นถึงความรู้สึก (Feeling) ของบุคคลที่มีต่อสิ่งใด   สิ่งหนึ่ง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ และตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ด้วย เช่น การมีอารมณ์หรือความรู้สึกเกี่ยวกับ ความรัก (Loving) ความชอบ (Caring) ความเกลียดชังหรือรังเกลียด (Hating) ความรู้สึกเจ็บปวด (hurt) ความรู้สึกหมดหวังหรือความผิดหวัง (Despairs) ความรู้สึกที่ปลดปล่อย (Release) สนุก (Joy) ความวิตกกังวล (Anxiety) ความรู้สึกกลัว (Fear) ความขัดข้องใจ (Frustration) ความโกรธอย่างรุนแรง (Intense anger)

      ริชาร์ด  ลาซาราส (Richard Lazarus) นักจิตวิทยา (Psychologist) เชื่อว่าการมีความรู้สึก หรืออารมณ์ จะมีพื้นฐาน 4 ประการดังนี้

  1. อารมณ์เป็นผลอันเนื่องมาจากการมีอันตราย (Harm) ความสูญเสีย (Loss) หรือ ถูกคุกคาม (Threats)
  2. อารมณ์เป็นอันผลเนื่องมาจาก การได้รับประโยชน์หรือสิ่งที่ดี (Benefits)
  3. อารมณ์แบบก้ำกึ่ง เช่น ความหวัง (Hope) ความเห็นอกเห็นใจหรือความสงสาร (Compassion)
  4. อารมณ์ที่เกิดอย่างสมบูรณ์ เช่น ความโศกเศร้าหรือความสลดใจ (Grief) ความท้อแท้หรือความเสียใจ (Disappointment) ความลำบากใจ (Bewilderment) และความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)

      สุขภาวะทางสังคม หมายถึง ความสามารถของแต่ละบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ และสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ทางสังคมและพฤติกรรมประจำวันที่เกิดขึ้นได้ การที่บุคคลจะมีสุขภาวะทางสังคมที่ดีนั้นจะมีความเกี่ยวข้องกับการได้รับการสนับสนุนทางสังคม (Social supports) ในที่นี้โดยเฉพาะการได้รับสนับสนุนจากครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับข้อผูกมัดทางสังคม (Social bonds) ซึ่งจะมาจากองค์ประกอบหลัก 6 ประการ คือ ความคุ้นเคยหรือความสนิทสนม (Intimacy) การปรับตัวกับสภาพแวดล้อม (Integration) มีการให้หรือการรับอย่างเหมาะสม (Giving or receiving nurturance) มีการให้ความช่วยเหลือและแนะนำ (Assistance and Guidance) มีการให้คำปรึกษา (Advice) มีความมั่นใจที่ดีกับ   สิ่งที่มีคุณค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (Reassurance of one’s worth)

      สุขภาวะทางจิตวิญญาณ หมายถึง สภาวะของบุคคลที่สามารถรู้จักตัวตนของตนเอง ไม่มีความเห็นแก่ตัว มีความรู้สึก ความเข้าใจ ในการดำรงอยู่หรือมีความเข้าใจความรู้สึกเป้าหมายในชีวิตที่แท้จริงมากกว่าความรู้สึกความเข้าใจส่วนบุคคล เช่น การให้ของหรือช่วยเหลือผู้อื่น การเสียสละ แล้วเกิดความสุข การรู้จักบาปบุญคุณโทษ            สิ่งเหล่านี้เป็นมิติทางนามธรรมที่เรียกว่าจิตวิญญาณ ซึ่งถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการพัฒนามนุษย์

      และทัศนะของศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ  วะสี  ได้ให้นิยามของคำว่าสุขภาพ คือ ดุลยภาพ การที่ท่านกล่าวเช่นนี้ก็หมายความถึงมนุษย์เราจะต้องมีสุขภาวะทางด้านต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างบูรณาการ และเหมาะสม ตามศักยภาพของแต่ละบุคคลเมื่อมนุษย์มีความสมดุล ก็จะมีสภาพที่ปกติ การลักษณะดุลยภาพนั้น จะต้องมีความสมดุลของสุขภาวะของแต่ละบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีดุลยภาพ ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลสามารถดำรงชีวิต มีวิถีชีวิตที่ดี มีความสุขและทำให้สังคม ชุมชน มีความเป็นปกติสุข

Shares: