ความรู้พื้นฐาน เรื่อง โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน เกิดจากการที่เซลล์ร่างกายมีความผิดปกติในขบวนการเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน โดยขบวนการนี้เกี่ยวข้องกับอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อนเพื่อใช้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อน้ำตาลไม่ได้ถูกใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าระดับปกติ โดยในระยะยาวจะส่งผลให้เกิดการทำลายหลอดเลือด และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่รุนแรงมากขึ้น

โรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ชนิด ตามสาเหตุของการเกิดโรค  

1.   โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus, T1DM) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบในเด็ก

2.   โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (type 2 diabetes mellitus, T1DM) เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด ร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วย  

3.   โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus, GDM) เป็นโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ มักเกิดเมื่อไตรมาส 2-3 ของการตั้งครรภ์

4.   โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ (specific types of diabetes due to other causes) มีได้หลายสาเหตุ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ ยาบางชนิด เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคเบาหวาน ทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งใน 4 วิธี ดังต่อไปนี้

1.  การตรวจหาระดับน้ำตาลเวลาใดเวลาหนึ่งโดยไม่อดอาหาร แล้วมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับมีอาการของเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก กระหายน้ำบ่อย ตามัว อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน 

2.   การตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากมีค่าระดับน้ำตาลมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน

3.   การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส  จะทำในผู้ที่อดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยแพทย์จะทำการเจาะเลือดเข็มที่ 1 ก่อนการดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัม และทำการเจาะเลือดซ้ำอีกครั้งหลังการดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง หากพบว่ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรแสดงว่าบุคคลนั้นเป็นโรคเบาหวาน

4.   การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสะสม  การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร แต่แพทย์จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อายุ หรือการเป็นโรคโลหิตจาง โดยหากค่าที่ตรวจได้มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน การตรวจวิธีนี้จะต้องตรวจในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งยังมีน้อยในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้

บุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และควรได้รับการตรวจคัดกรอง ได้แก่

  1. ผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่อ้วน (มีค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI มากกว่า 25) และมีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
  3. มีโรคความดันโลหิตสูง
  4. ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ
  5. มีประวัติเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีประวัติคลอดทารกน้ำหนักเกิน 4 กิโลกรัม
  6. มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
  7. สตรีที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome)

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย ภาวะแทรกซ้อนทางตา ไต หรือเส้นประสาทส่วยปลาย โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด คือ ภาวะแทรกซ้อนทางตา ซึ่งสามารถพบได้เป็นจำนวนถึง 1 ใน 3 ของผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 425 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 642 ล้านคนในปี พ.ศ. 2583 จากผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่าคนไทยประมาณ 4.8 ล้านคนเป็นโรคเบาหวาน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

จากสถิติพบว่า ประชากรในวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน เป็นโรคเบาหวาน และ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร้อยละ 50 ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรค และคุณอาจเป็นหนึ่งในนั้น ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคแต่เนิ่น และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแทรกซ้อนจากโรคได้ ในแต่ละวันจะมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 200 คน หรือ 8 รายต่อชั่วโมง และมีเพียง 10% ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีชีวิตอยู่โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ประเทศไทยมียอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานเฉลี่ยปีละกว่า 8,000 คน และพบว่าคนรุ่นใหม่มีโอกาสเป็นเบาหวานสูงขึ้นจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป

สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก โดยได้กำหนดสาระสำคัญประจำปี 2018-19 คือ “The Family and Diabetes” เพื่อสร้างให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของโรคเบาหวานที่มีต่อบุคคลในครอบครัว นอกจากนี้ยังมุ่งให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวในการจัดการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตลอดจนการป้องกันโรคเบาหวานโดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอีกด้วย


อ้างอิง จากบทความของแพทย์หญิงอุษณีย์ ดำรงพิพัฒน์กุลแพทย์อายุรกรรมต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ และบทความจาก ผศ.พญ. พิมพ์ใจ อันทานนท์ สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

Shares: